ขอบคุณเพื่อนๆมากๆเลยนะ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียน "

Love story

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552




โบสถ์เซนต์โซเฟีย" หรือปัจจุบันเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "สุเหร่าเซนต์โซเฟีย" ตั้งอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ประเทศตุรกี


สำหรับโบสถ์นี้มีชื่อเต็มมาจากภาษากรีก แปลว่า โบสถ์แห่งปัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ โดยคำว่า "โซเฟีย" มาจากภาษาละตินที่เปลี่ยนมาจากคำในภาษากรีกที่แปลว่า "ปัญญา" อีกทีหนึ่ง จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับเซนต์ที่ชื่อโซเฟียแต่อย่างใด


โบสถ์เซนต์โซเฟีย หรือสุเหร่าเซนต์โซเฟีย ปัจจุบันเป็นที่ประชุมสวดมนต์ของชาวมุสลิม ซึ่งในอดีตเคยเป็นโบสถ์ทางศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ ที่พระเจ้าจักรพรรดิ์คอนสแตนตินเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใช้เวลาสร้าง 17 ปี เพื่อเป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์ แต่ถูกผู้ก่อการร้ายบุกทำลายเผาเสียวอดวายหลายครั้ง เพราะเกิดการขัดแย้งระหว่างพวกที่นับถือศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม จนถึงสมัยพระเจ้าจัสติเนียนมีอำนาจเหนือตุรกี จึงได้สร้างโบสถ์เซนต์โซเฟียขึ้นใหม่ ใช้เวลาสร้างฐานโบสถ์ 20 ปี ตัวโบสถ์ 5 ปี


เมื่อประมาณปี พ.ศ.1996 (ค.ศ.1435) พระองค์ต้องการให้เป็นสิ่งสวยงามที่สุด จึงได้พยายามหาสิ่งของมีค่าต่างๆ มาประดับไว้มากมาย และได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากขยายโบสถ์เซนต์โซเฟียให้ใหญ่โตชนิดที่เรียกว่าต้องใหญ่กว่าโบสถ์คริสต์ทุกแห่งในโลก หลังจากสร้างเสร็จได้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬาร ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทำให้แตกร้าว ต้องให้ช่างซ่อมจนเรียบร้อยแบบในสภาพเดิมเมื่อสิ้นสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน ถึงสมัยพระเจ้าโมฮัมเหม็ดที่ 2 มีอำนาจเหนือตุรกี และเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทรงเห็นว่าโบสถ์เซนต์โซเฟียนั้นของเดิมสร้างได้ใหญ่โตแข็งแรงและสวยงามอยู่แล้ว จึงไม่ทำลายเหมือนเช่นศาสนสถานแห่งอื่น หากแต่ทรงบัญชาเปลี่ยนแปลงภายในโบสถ์เสียใหม่ ให้เป็นสุเหร่าอิสลาม แต่ยังคงความงามไว้เช่นเดิม


• งดงามจนได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง
โบสถ์เซนต์โซเฟีย หรือสุเหร่าเซนต์โซเฟียแห่งนี้มีเนื้อที่ 700 ตารางเมตร ภายในมีเสางามค้ำที่สลักอย่างวิจิตรและ ประดับไว้งดงาม 108 ต้น (ชั้นบนขนาดเล็ก 68 ต้น ชั้นล่างขนาดใหญ่ 40 ต้น) มีจุดเด่นอยู่ตรงยอดที่เป็นโดมขนาดมหึมากลางวิหาร คล้ายซาลาเปา มีหอมินาเรสท์เป็นยอดแหลมๆ มากมาย เนื่องจากศิลปะแบบคริสเตียนผสมกับอิสลามนี้เอง ทำให้มีความสวยงามอันน่ามหัศจรรย์
นอกจากนี้ บรรยากาศภายในโบสถ์ค่อนข้างสลัว เพราะแสงเข้ามาน้อย แต่เย็น เพราะโครงสร้างส่วนใหญ่ทำด้วยหินอ่อน และงานโมเสกชิ้นสำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ด้านขวาของโบสถ์ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่และอยู่สูงขึ้นไปจรดเพดาน ต้องแหงนคอดูเช่นกัน


ปัจจุบันโบสถ์เซนต์โซเฟียได้กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไปแล้ว และด้วยโครงการทำโบสถ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ.1930 นี่แหละ ที่มีการค้นพบภาพโมเสกอันประมาณค่ามิได้ของโบสถ์เซนต์โซเฟีย
ถ้าใครมีโอกาสได้เข้าชมโบสถ์เซนต์โซเฟียแห่งนี้...คงจะได้รับความรู้และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับความแตกต่างของสองศาสนาที่มีความขัดแย้งกันมาเป็นพันๆ ปีว่า ทำไมสามารถมารวมอยู่ในที่เดียวกันได้อย่างกลมกลืนและงดงาม

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วันเข้าพรรษา


"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระ ตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์

การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง


กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา

๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร

๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ

วันอาสาฬหบูชา







ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ทั้งนี้ คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8


วันอาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี


ทั้งนี้ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ


สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ


1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ


การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค


การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค


ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่


1 สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง


2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม


3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต


4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต


5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต


6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี


7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด


8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


2. อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่


1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด


2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ


3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา


4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น


ส่วนพิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างนี้......