หอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Clock Tower, Palace of Westminster) หรือรู้จักดีในชื่อ บิ๊กเบน เป็นหอนาฬิกาประจำพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นรัฐสภาอังกฤษตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวัง หอนาฬิกานี้ถูกสร้างหลังจากไฟไหม้พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เดิม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2377 โดยชาลส์ แบร์รี เป็นผู้ออกแบบ หอนาฬิกามีความสูง 96.3 เมตร โดยที่ตัวนาฬิกาอยู่สูงจากพื้น 55 เมตร ตัวอาคารสร้างด้วย สถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (victorian gothic)
หลายคนเข้าใจว่าบิกเบนเป็นชื่อหอนาฬิกาประจำรัฐสภาอังกฤษ แต่แท้ที่จริงแล้ว บิกเบนเป็นชื่อเล่นของระฆังใบใหญ่ที่สุด หนักถึง 13,760 กิโลกรัม ซึ่งแขวน ไว้บริเวณช่องลมเหนือหน้าปัดนาฬิกา ทั้งนี้มีระฆังรวมทั้งสิ้น 5 ใบ โดย 4 ใบจะถูกตีเป็นทำนอง ส่วนบิกเบนจะถูกตีบอกชั่วโมงตามตัวเลขที่เข็มสั้นชี้บนหน้าปัดนาฬิกา ทว่าคนส่วนใหญ่กลับใช้ชื่อบิกเบนเรียกตัวหอทั้งหมด
บางทีมักเรียกหอนาฬิกานี้ว่า หอเซนต์สตีเฟน (St. Stephen's Tower) หรือหอแห่งบิกเบน (Tower of Big Ben) ซึ่งที่จริงแล้วชื่อหอเซนต์สตีเฟนคือ ชื่อของหอในพระราชวังอีกหอหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นทางเข้าไปอภิปรายในสภา ปัจจุบันภายในหอนาฬิกาไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม เว้นแต่สำหรับผู้ที่อาศัยใน ประเทศอังกฤษ จะต้องทำเรื่องขอเข้าชมผ่านสมาชิกรัฐสภาอังกฤษประจำท้องถิ่นของตน ถ้าเป็นเด็กต้องมีอายุเกิน 11 ปี จึงจะเข้าชมหอได้ สำหรับชาวต่างประเทศนั้นยังไม่อนุญาตให้ขึ้นไป
หอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ มีความสูงทั้งหมด 96.3 เมตร โดยในช่วง 61 เมตรแรก เป็นอาคารก่อด้วยอิฐ บุด้วยหิน ส่วนที่สูงจากนั้นเป็น ยอดแหลมทำด้วยเหล็กหล่อ ตัวหอตั้งอยู่บนฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร หนา 3 เมตร อยู่ใต้ดินลึก 7 เมตร ตัวหอทั้งหมดหนักโดยประมาณ 8,667 ตัน หน้าปัดนาฬิกาทั้งสี่ด้านอยู่สูงจากพื้น 55 เมตร เนื่องจากสภาพดินในขณะที่มีการก่อสร้างหอ ทำให้ตัวหอค่อนข้างเอนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 220 มิลลิเมตร
หน้าปัดนาฬิกา
ครั้งหนึ่ง หน้าปัดนาฬิกาของหอมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันถูกทำลายสถิติโดยหอนาฬิกาอัลเลน-แบร็ดเลย์ (Allen-Bradley Clock Tower) ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ทว่าผู้สร้างหอนาฬิกาอัลเลน-แบร็ดเลย์มิได้จัดให้มีการตีระฆังหรือสายลวดบอกเวลา จึงทำให้หอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ยังคงเป็น นาฬิกาสี่หน้าปัดที่มีการตีบอกเวลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลไกนาฬิกาภายในหอสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2397 แต่ตัวหอเสร็จในเวลา 4 ปีต่อมา
หน้าปัดนาฬิกาถูกออกแบบโดยออกุสตุส ปูจิน (Augustus Pugin) ตัวหน้าปัดทำด้วยโครงเหล็กกว้างและยาว 7 เมตร ประดับด้วยกระจก 576 ชิ้น เข็มสั้นมีความยาว 2.7 เมตร เข็มยาวมีความยาว 4.3 เมตร รอบ ๆ หน้าปัดประดับด้วยลายทองอย่างวิจิตร ใต้หน้าปัดสลักดุนเป็นข้อความภาษาละตินว่า DOMINESALVAM FAC REGINAM NOSTRAM VICTORIAM PRIMAM ซึ่งแปลว่า "โอ้ พระเจ้าข้า จงประทานความปลอดภัยให้พระนางวิกตอเรีย ด้วยเถิด"
นาฬิกาเริ่มเดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2402 ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันได้ทิ้งระเบิดทำลายรัฐสภาอังกฤษ และทำความเสียหายให้กับหน้าปัดด้านทิศตะวันตกเป็นอย่างมาก
ระฆัง "บิกเบน"
ระฆังที่แขวนไว้ในหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่ามหาระฆัง (The Great Bell) โดยทำการหล่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2399 โดยวอร์เนอร์ออฟคริปเปิลเกต (Warner's of Cripplegate) หนัก 14.5 ตัน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เบนจามิน ฮอลล์ (Benjamin Hall) เป็นแม่กองในการหล่อครั้งแรกนี้ จึงใช้ชื่อเล่นของเขาเป็นชื่อเล่นของระฆัง บางที่ก็ว่าระฆังอาจถูกตั้งชื่อหลังจากที่นักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตชื่อ เบนจามิน เคานต์(Benjamin Caunt)
มหาระฆังหรือบิกเบน เป็นระฆังหนึ่งในห้าใบที่แขวนไว้ในหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เมื่อตีจะให้เสียงโน้ต "ลา" ส่วนระฆังอีกสี่ใบที่เหลือมีเสียงโน้ตซอลสูง ฟาสูง มี และที ตามลำดับ
ขณะที่หอนาฬิกายังสร้างไม่เสร็จ มหาระฆังถูกแขวนไว้ในพระราชอุทยานพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ แต่กลับแตกเมื่อถูกตีด้วยค้อนที่หนักเกินไป จึงให้หล่อใหม่ที่บริษัทระฆังไวต์แชพเพล (Whitechapel Bell Foundry) ครั้งนี้ระฆังหนัก 13.76 ตัน สูง 2.2 เมตร และกว้าง 2.6 เมตร มหาระฆังถูกนำขึ้นแขวนในห้องระฆังบริเวณช่องลมของตัวหอ เมื่อปี พ.ศ. 2446 พร้อมด้วยระฆังเล็ก ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง จึงสำเร็จ ต่อมาในเดือนกันยายนของปีถัดมา มหาระฆังก็ร้าว แต่ก็แก้ไขโดยการหมุนระฆังมิให้ส่วนที่ร้าวถูกตี และก็ไม่ได้ทำการซ่อมแซมมาจนถึงปัจจุบัน
ที่หอนาฬิกามีการตีระฆังเล็กทุก ๆ 15 นาที เป็นทำนองระฆังแบบเวสต์มินสเตอร์ และจะตีด้วยทำนองที่ต่างกันเล็กน้อยทุก 15 นาที เมื่อครบหนึ่งชั่วโมงจะมีการตีระฆังเล็ก ตามด้วยเสียงของบิกเบนตามจำนวนเลขที่เข็มสั้นชี้ เมื่อได้ฟังแล้วก็จะเป็นที่จับใจยิ่งนัก จนกระทั่งเสียงนี้เป็นที่นิยม ทั้งนาฬิกาตั้งในบ้านและหอนาฬิกา เสียงของระฆังในหอนาฬิกาถูกนำออกอากาศทุกวัน ผ่านทางสถานีวิทยุบีบีซีช่อง 4 ก่อนข่าวภาคค่ำ (เวลา 18 นาฬิกา) และข่าวเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่นประเทศอังกฤษ
สำหรับเสียงของระฆัง (เฉพาะเสียง ตีบอกเวลา 12:00 น. และ 24:00 น.)
สำหรับเสียงของระฆัง (เฉพาะเสียง ตีบอกเวลา 12:00 น. และ 24:00 น.)
ความเที่ยงตรง
นาฬิกาประจำหอนั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในด้านความเที่ยงตรงโดยกลไก นาฬิกาถูกออกแบบโดยเอ็ดมุนด์ เบ็กเกตต์ เดนิสัน (EdmundBeckett Denison) และถูกสร้างขึ้นโดยเอ็ดเวิร์ด จอห์น เดนต์ (EdwardJohn Dent) กลไกของนาฬิกาถูกสร้างขึ้นก่อนตัวหอเสร็จถึง 4 ปี ทำให้เอ็ดมุนด์ เดนิสัน มีเวลาที่จะทดสอบความแม่นยำ ซึ่งแทนที่เขาจะใช้กลไกแบบลูกตุ้มแกว่งไม่หยุด(deadbeat escapement) ซึ่งสึกหรอง่าย เพราะลูกตุ้มยังแกว่งแม้เฟืองจะล็อกแล้ว แต่เขากลับใช้กลไกแบบอาศัยแรงโน้มถ่วง (gravity escapement)ประกอบด้วยลูกตุ้มและตัวขับลูกตุ้ม(escapement) บรรจุในกล่องกันลมอย่างดีและเก็บอยู่ที่ใต้ห้องนาฬิกา
จนทำให้นาฬิกามีความแม่นยำอย่างยิ่ง กลไกที่เป็นเฟืองของนาฬิกาทั้งหมดวางอยู่บนโต๊ะรองรับสีเขียวแก่ ที่ขอบโต๊ะจารึกข้อความด้วยลายทองว่า "THIS CLOCK WAS MADE IN THE YEAR OF OUR LORD 1854 BY FREDERICK DENT OF THE STRAND AND THE ROYAL EXCHANGE CLOCKMAKER TO THE QUEEN, FROM THE DESIGNS OF EDMUND BECKETT DENISON Q.C." แปลเป็นไทยได้ว่า " นาฬิกาเรือนนี้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2397 (ค.ศ. 1854) โดยเฟรเดอริก เดนต์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยการออกแบบของเอ็ดมุนด์ เบ็กเกตต์ เดนิสัน"
ลูกตุ้มนาฬิกาสามารถปรับตั้งได้เสมอโดยการใส่เหรียญเพนนีที่ลูกตุ้มของนาฬิกา เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งศูนย์กลางมวลของลูกตุ้ม ทำให้คาบการเคลื่อนที่เปลี่ยนถ้าใส่เหรียญลงไปนาฬิกาก็เดินช้าลง แต่ถ้าเอาออกก็จะเร็วขึ้น จนเกิดสำนวนอังกฤษว่าputting a penny on แปลเป็นสำนวนไทยว่า โอ้เอ้วิหารรายคือทำตัวโอ้เอ้ หรือทำให้ช้ายืดยาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น