ขอบคุณเพื่อนๆมากๆเลยนะ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียน "

Love story

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

เทพีวีนัส


เทพีวีนัส (Venus) เป็นเทพีแห่งเทพปกรณัมโรมันที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรักและความงาม หรืออีกชื่อคือ อโฟรไดท์ (Aphrodite) แห่งเทพปกรณัมกรีก พระนางเป็นชายาของเทพวัลแคน (Vulcan)หรือ เฮฟเฟสตุส เทพแห่งงานช่าง เทพีวีนัสตามตำราว่าเกิดขึ้นเองจากฟองทะเล ด้วยพระนามของพระนาง อะโฟรไดท์ นั้น มาจากคำว่า 'Aphros'ที่แปลว่าฟอง ซึ่งมีตำนานว่าพระนางเกิดในทะเลใกล้เกาะไซเธอรา และถูกคลื่นซัดไปยังเกาะไซปรัส แต่บางตำราว่าเป็นธิดาของเทพซุสที่เกิดจากจากนางอัปสรไดโอนี แต่ที่ตรงกันคือพระนางมีความงดงามที่ไม่มีใครเทียมได้แม้กระทั่งเทพธิดาด้วยกัน และสามารถสะกดใจผู้ชายทุกคนได้ภายในพริบตาแรกที่มองเห็นพระนาง อีกทั้งพระนางก็ชอบใจในความสวยงามของตนเองมากเสียด้วย พระนางจึงไม่ยอมเด็ดขาดหากใครจะกล้าล้ำเส้นเทพีความงามของพระนาง ด้วยแรงริษยาที่รุนแรงพอๆกับรูปโฉมสะสวยทำให้เทพีวีนัสเป็นที่หวาดหวั่นของเทพหลายๆองค์
ในวันแรกที่เทพีวีนัสปรากฏตัวบนเขาโอลิมปัส เทพชายทุกองค์โดยเฉพาะเทพซุสเองก็อยากได้พระนางมาครอบครอง แต่เทพีวีนัสไม่ใช่หญิงสาวเรียบร้อยหัวอ่อนว่าง่าย ทำให้เทพซุสเกิดความโมโหและแก้เผ็ดพระนาง โดยจับพระนางแต่งงานกับเทพวัลแคนพระโอรสของพระองค์ ซึ่งเทพวัลแคนชอบขลุกอยู่ในโรงงาน ก่อสร้าง และประดิษฐ์สิ่งต่างๆเนื้อตัวมอมแมม แถมยังเป็นเทพขาเป๋ ทำให้เทพีวีนัสโกรธเคืองอย่างมาก แต่พระนางก็กล้าทำในสิ่งที่เทพีอื่นๆไม่กล้า นั่นคือการคบชู้สู่ชายแบบตามใจชอบ ดังเช่น
1.
เทพอาเรส เทพแห่งสงคราม โอรสอีกองค์ของเทพซุสและเป็นน้องชายร่วมท้องของเทพวัลแคน ด้วยความที่มีรูปร่างหน้าตางดงามหล่อเหลา ทำให้ทั้งสองเทพเทพีเกิดรักใคร่กันในใจเงียบๆแต่แรกเจอ แต่เมื่อเทพีวีนัสถูกจับคลุมถุงชน ทั้งสองจึงยอมอยู่กินกันแบบชู้รักอย่างมีความสุข กระทั่งมีพยานรักด้วยกันถึง 4 องค์ คือ
-
คิวปิด กามเทพ เทพเจ้าแห่งความรัก มีชายาเป็นคู่แค้นเก่าของมารดานามว่า เทพีไซคี และมีธิดาหนึ่งองค์กับพระชายา นามว่า เดลิซิโอ
- แอนตีรอส โอรสองค์รอง เป็นเทพเจ้าแห่งการรักตอบ
-
ฮาร์โมเนียหรือ เฮอร์ไมโอนี ธิดาองค์ที่สาม ซึ่งเทพอาเรสยกให้แต่งงานกับแคดมัส ผู้ก่อตั้งเมืองธีบส์ โดยเทพอาเรสไม่รู้เลยว่า พระองค์ได้สาปแช่งแคดมัสไว้ ธิดาองค์นี้ในที่สุดก็กลายร่างเป็นงูตามสวามี และลูกหลานสืบต่อมาจึงประสบกับชะตาอันน่าเศร้า อย่างที่รู้จักกันดีคือ โอดิปุส ผู้ซึ่งฆ่าพ่อของตนและได้แม่เป็นภรรยา
- อัลซิปเปธิดาองค์สุดท้อง มีรูปโฉมงดงามจนถูกโอรสเทพโพไซดอนลักพาตัวไป ท้ายสุดเทพอาเรสตามชิงธิดากลับมาได้ และฆ่าโอรสเทพโพไซดอนตาย เทพโพไซดอนโกรธเคืองมากถึงขนาดต้องขึ้นศาลกับเทพอาเรส แต่ท้ายที่สุดเทพอาเรสชนะความ
2.
เทพเฮอร์มีส ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดากับเทพอาเรสและเทพวัลแคน เป็นเทพแห่งการติอต่อสื่อสาร การโกหก และการขโมย ทั้งสองมีโอรสชายด้วยกันหนึ่งองค์คือ เฮอร์มาโฟไดทัส แต่ภายหลังก็กลายเป็นเทพสองเพศ เพราะมีนางอัปสรชื่อ ซาลมากิส มาหลงรักเฮอร์มาโฟไดทัส ทว่าเขาไม่ไยดีต่อนางเลย นางจึงวิงวอนแก่เทพเจ้าให้นางได้ติดตามเขาไปทุกที่ ท้ายสุด นางซาลมากิสก็ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเฮอร์มาโฟไดทัสตามแรงอธิษฐาน ทำให้เฮอร์มาโฟไดทัสมีสองเพศนับแต่นั้นมา
3.อาโดนิส ชายรูปงามซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ เล่ามาว่า ครั้งหนึ่งในป่าใหญ่ ขณะเทพีวีนัสกำลังประพาสป่า เกิดพบต้นไม้ใหญ่งดงามต้นหนึ่งหักโค่นลง และภายในมีเด็กชายหน้าตาน่ารักอยู่ พระนางจึงรับเด็กชายไว้และตั้งชื่อเขาว่า อาโดนิส พระนางฝากเทพีเพอร์เซโฟนี่มเหสีแห่งเทพฮาเดสดูแล จนกระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านมา เทพีวีนัสบังเอิญถูกศรรักของโอรสสะกิดจนเป็นแผลเล็ก และเวลาประจวบเหมาะกับที่อาโดนิสเมื่อโตเป็นหนุ่มแล้วมาปรากฏตรงหน้าพระนาง ทำให้เทพีวีนัสหลงรักอาโดนิสปักใจ และขออาโดนิสคืนจากเทพีเพอร์เซโฟนี่ แต่องค์เทพีไม่ยินยอมด้วยความผูกพันที่มีต่อชายหนุ่ม ทั้งสองเทพีจึงเกิดเบาะแว้งกันใหญ่โต เทพซุสจึงตัดสินให้อาโดนิสสามารถอยู่กับเทพีวีนัสสี่เดือนบนโลกมนุษย์ อยู่อีกสี่เดือนในยมโลกกับเทพีเพอร์เซโฟนี่ และอีกสี่เดือนอาโดนิสจะอยู่ที่ไหนก็ได้ตามใจ(บางตำราก็ว่า แบ่งระหว่างสองเทพีองค์ละ 6 เดือน)แต่เทพอาเรสหึงหวงชายา(ลับ)ของตนมาก จึงแปลงเป็นหมูป่าที่อาโดนิสชอบล่าลวงเขาเข้าป่าไปและฆ่าทิ้ง เทพีวีนัสเสียใจมากที่พบแต่ศพของชายคนรัก พระนางจึงเนรมิตดอกไม้งามขึ้นมาจากเลือดของอาโดนิส ซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แห่งความรัก ดอกกุหลาบนั่นเอง
4.แอนไคซีส แอนไคซีสเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นบุตรเขยของท้าวอิลัสปู่ของท้าวเพรียมฝ่ายทรอย ทั้งๆที่เขามีชายาอยู่แล้ว แต่เทพีวีนัสก็หลงใหลในตัวของแอนไคซีสมาก พระนางแปลงตัวมาเป็นนางอัปสรประจำเขาไอดา และหาโอกาสใกล้ชิดกับแอนไคซีส จนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ อีเนียส วีรบุรุษฝ่ายทรอยในสงครามทรอย ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: